วันวานที่ผ่านไป และอนาคตใหม่ที่ก้าวเข้ามาของคลองโอ่งอ่าง
ไม่กี่ปีหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมต่อกับทางน้ำสายหลักและกำหนดเขตแดนของเมืองหลวงใหม่ให้ชัดเจน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองสายหนึ่ง เริ่มจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดสังเวชวิศยารามไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนเส้นทางเป็นจากเหนือลงใต้ เริ่มที่ป้อมมหากาฬ ไปจรดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม)
รัชกาลที่ 1 พระราชทานนามคลองนี้ว่า ‘คลองรอบกรุง’ เพราะเป็นคลองที่ขุดมาเพื่อเป็นคูเมืองชั้นนอก โอบรอบกรุงรัตนโกสินทร์ร่วมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ความที่มีสายน้ำล้อมรอบทิศ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และคลองรอบกรุงทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทำให้เมืองหลวงของไทยในเวลานั้นมีลักษณะเป็นเกาะ จึงเรียกว่า ‘เกาะรัตนโกสินทร์’ มาจนวันนี้
คลองรอบกรุงยาวเพียง 3 กิโลเมตรโดยประมาณ ตัวเลขดังกล่าวอาจดูไม่มากนัก แต่เพราะความสำคัญของคลองนี้ที่มีต่อพระนคร ราษฎรจึงมาจับจองที่อยู่อาศัยกันคับคั่ง นำมาซึ่งชื่อเรียกคลองที่ต่างกันไปในภาษาปากของชาวบ้านแต่ละตอน
ต้นคลองจากวัดสังเวชวิศยารามไปถึงป้อมมหากาฬ เรียกว่า ‘คลองบางลำพู’ ซึ่งเป็นชื่อตำบลที่นั่น
พอผ่านสะพานหัน เรียกว่า ‘คลองสะพานหัน’ หรือ ‘คลองตะพานหัน’
ผ่านวัดเชิงเลน ก็เรียก ‘คลองวัดเชิงเลน’
ครั้นลงมาแถวปากคลองอันเป็นแหล่งค้าโอ่ง อ่าง และภาชนะดินเผาอื่น ๆ ฝีมือชาวจีนกับมอญ ก็เรียกคลองรอบกรุงช่วงนั้นว่า ‘คลองโอ่งอ่าง’ ตามชื่อสินค้าที่ผลิตและขายกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยชื่อนี้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2451 เลยทีเดียว
กระทั่ง พ.ศ. 2483 ที่ประเทศไทยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คลองแห่งนี้ก็แทบสิ้นสถานะคลองเพื่อการคมนาคม เมื่อรัฐบาลยุคนั้นมีมติเห็นชอบว่าควรทำเขื่อนขนาบสองฝั่งคลองเพื่อขยายทางเท้า และลดพื้นที่คลองซึ่งตื้นเขินและไม่ถูกสุขลักษณะ
กลุ่มผู้ค้าย่านสะพานเหล็กก็ขีดเขียนตำนานบทใหม่ให้กับพื้นที่ ซึ่งยังเป็นที่กล่าวขวัญมาจนถึงวันนี้
นาฬิกา สินค้าฟุ่มเฟือยแสดงฐานะที่โดยมากเป็นของนำเข้า เริ่มขยายฐานการค้าจากตลาดคลองถมมาสู่สะพานเหล็ก เนื่องจากมีการนำนาฬิกาจากฮ่องกงเข้ามาขายในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมหาศาล ผู้ค้าจำนวนหนึ่งต้องเสาะหาที่ตั้งร้านรวงแห่งใหม่ เลยมารวมตัวกันที่เชิงสะพานเหล็ก
และจากนาฬิกา สินค้านำเข้าชนิดอื่น ๆ ก็หลั่งไหลตามมาวางจำหน่าย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเล่นเกม ตลับเกม จนแน่นขนัดเต็มพื้นที่
พ.ศ. 2526 ทางกรุงเทพมหานครได้จัดสัมปทานให้เช่าพื้นที่ว่างเหนือคลองโอ่งอ่างบริเวณรายรอบสะพานดำรงสถิต เพื่อโอบรับร้านค้าซึ่งทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เหนือลำคลองที่เคยมีแค่สะพานข้ามฟาก จึงต่อเติมด้วยร้านรวงนับร้อยร้าน มุงหลังคาสังกะสีแน่นเอี้ยดจนดูไม่รู้ว่าใต้ทางเดินมีน้ำคลองไหลหลั่ง
เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผู้คนจดจำสะพานเหล็กในฐานะย่านการค้าที่พลุกพล่านจอแจ เคียงข้างตลาดคลองถม ถนนเสือป่า หรือสำเพ็ง เวลาต่อมาสินค้าที่เป็นภาพจำคู่กับตลาดบนคลองแห่งนี้ ก็คือเกมและของเล่น ชนิดที่เรียกได้ว่าหากอยากได้เครื่องเล่นเกมใหม่ รถบังคับวิทยุ หุ่นฟิกเกอร์ หรือแม้แต่ตุ๊กตาหมีและบาร์บี้ ก็ต้องไปหาซื้อที่สะพานเหล็กกันเลยทีเดียว
ร้านรวงใต้หลังคาสังกะสีแผ่อาณาเขตตั้งแต่เชิงสะพานดำรงสถิตจนถึงสะพานบพิตรพิมุขมานานโข จนกระทั่ง พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานครเล็งเห็นว่า การมีอยู่ของร้านเหล่านี้ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรมและน้ำในคลองเน่าเสีย เห็นควรต้องจัดระเบียบเมืองใหม่ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ค้าที่รุกล้ำแนวคลองไปให้หมด
หลังการรื้อถอนเสร็จสิ้นลง ภาครัฐก็ปรับปรุงทัศนียภาพคลองใหม่ ร้านรวงที่ตั้งขายเป็นตรอกซอกซอยก็แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนมาเดินเล่น ติดตั้งระบบไฟ จัดสวนใหม่ ดูแลความสะอาดของน้ำ พาคลองมากประวัติศาสตร์แห่งนี้ข้ามผ่านสู่ยุคใหม่อีกยุคหนึ่ง
พาหนะที่ล่องบนน้ำอย่างเรือ ได้กลับมาล่องเหนือผืนน้ำคลองโอ่งอ่างอีกครั้ง แต่ไม่ใช่เรือสำปั้นและเรือกระแชงเช่นที่เคยสัญจรไปมาบนคลองสายนี้เมื่อครั้งคุณตาคุณยายยังเด็ก หากเป็นเรือคายัคเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
สองฟากฝั่งคลองแปรสภาพเป็นถนนคนเดิน ผู้ค้ากลุ่มใหม่มาในรูปรถเข็นขายของกินเล่น ร้านอาหารหลากเชื้อชาติกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ผนังทั่วแนวแต่งแต้มด้วยสตรีทอาร์ตชวนนักท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ฝังลึกในสถานที่แห่งนี้
Cr.https://readthecloud.co/history-of-khlong-ong-ang/